ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ๋คู่บ้านคู่เมือง ที่นี่ยังเป็นที่รู้จักในฐานะสัญลักษณ์ของสถาปนาเมืองหลวงอีกด้วย ที่นี่บอกเลยทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะมากราบไหว้บูชากันมากมาย วันนี้เรามีเคล็ดลับหรือเทคนิค รวมถึงรายละเอียดน่ารู้มาฝากกันด้วย
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ประวัติ
ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงรายละเอียดหรือขั้นตอนสักการะ ต้องรู้จักกับประวัติกันก่อน ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยในพุทธศักราช 2325 ธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันชัยภูมิสำคัญ เพื่อความสิริมงคลกับบ้านเมือง
ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่ แทนที่เสาเก่าที่ชำรุดตามเวลา โดยใช้แกนเสาเป็นไม้สัก ประดับประดาด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ ผูกดวงชะตะเมืองขึ้นใหม่ และในพุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และให้มีการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้สวยงาม สมบูรณ์ และยังได้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง 24 กรกฎาคม 2529
ศาลหลักเมือง ขอพรเรื่องอะไร
ถ้าพูดถึงศาลหลักเมือง ที่เที่ยวกรุงเทพ หลายคนอาจจะเดินทางไปไหว้กันโดยมีจุดมุ่งหมายหรือความตั้งใจที่จะไปกราบไหว้เพื่อความสิริมงคล สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ส่งผลหรือมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิต ทั้ง มั่นคงในหน้าที่การงาน มั่นคงในชีวิต มั่นคงในเรื่องต่าง ๆ และยังเป็นสถานที่ที่เรียกขวัญและกำลังใจได้อีกด้วย อีกหนึ่งอย่างเลย ยังมีความเชื่อกันว่า การไปที่ศาลหลักเมืองของจังหวัดไหนก็ตาม เหมือนเป็นการฝากให้ดูแลคุ้มครองตนเองเมื่ออยู่ที่จังหวัดนั้นอีกด้วย
ขั้นตอนการไหว้ศาลหลักเมือง
หลายคนอาจจะไม่เข้าใจหรือทำตัวไม่ถูกว่า การไปศาลหลักเมือง มีพิธีรีตองอะไรบ้าง ขั้นตอนการไหว้เป็นยังไง เพราะด้วยความที่สถานที่แห่งนี้มีความขลัง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย อาจจะกลัวว่าตนเองทำถูกหรือไม่ เรามีขั้นตอนมาฝากกัน
1. หอพระพุทธรูป
เราต้องเริ่มจากการกราบสักการะพระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ และถวายดอกบัว 1 ดอก ไม่ต้องจุดธูปเทียน และปิดท้ายขั้นตอนนี้ ด้วยการใส่บาตรพระประจำวันเกิดของเราเอง
2. องค์พระหลักเมืองจำลอง
กราบไหว้สักการะองค์พระหลักเมืองจำลอง จุดธูปเทียนบูชา ปิดทอง ผูกผ้าแพร 3 สี บนองค์พระหลักเมืองจำลอง ผูกพร้อมกันทั้ง 3 ผืน
3. องค์พระหลักเมือง
กราบสักการะและถวายพวงมาลัย งดจุดธูป เทียน และปิดทอง
4. ศาลเทพารักษ์
ถวายพวงมาลัย 5 พวง กราบองค์เทพารักษ์ทั้งห้า ได้แก่ พระเสื้อเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ เจ้าพ่อหอกลอง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี
5. สะเดาะเคราะห์ พระประจำวันเกิด และเติมน้ำมันตะเกียง
อย่าลืมแวะสะเดาะเคราะห์ด้วยน้ำตะเกียง โดยครึ่งขวดที่อ่างสะเดาะเคราะห์ และอีกครึ่งเทลงที่พระประจำวันเกิด
ศาลหลักเมือง การแต่งกาย
ถ้าพูดถึงการแต่งตัว แน่นอนว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ควรแต่งกายสุภาพ แนะนำว่าไม่ใส่เสื้อกล้าม กระโปรงสั้น เสื้อแขนกุด รวมไปถึงชุดรัดรูป เราควรที่จะให้เกียรติสถานที่ และเป็นแบบอย่างให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย
การเดินทางไปศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
การเดินทางไปศาลหลักเมืองที่ง่ายและสะดวกสบายสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็น เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินหรือ MRT ลงที่สนามไชย ใช้ทางออกที่ 1 มิวเซียมสยาม และเดินตรงไปยังพระบรมมหาราชวัง และจากมิวเซียมสยามเดินออกไปที่ศาลหลักเมือง มีระยะทางประมาณเพียง 900 เมตร
เตรียมของไหว้เองได้ และหน้าศาลมีบริการขาย
สำหรับของไหว้หรือเครื่องไหว้สักการะ เราสามารถจัดเตรียมไปเองได้เอง ประกอบไปด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ ทองคำเปลว น้ำมันตะเกียง และผ้าสามสี แต่ถ้าไม่สะดวกจัดเตรียมด้วยตัวเอง ด้านหน้าศาลเขามีบริการในส่วนนี้ไว้ให้แล้ว สามารถซื้อได้เลย ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลเสร็จแล้ว ไปเที่ยวคาเฟ่ต่อ หนีร้อน ไปตากแอร์ กินเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้วได้อีกด้วย